ขอบเขตการศึกษา
1) การทบทวนรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาทบทวนรายงานการศึกษาเดิมที่เกี่ยวข้อง หรือมีผลกระทบกับโครงการ ตลอดจนรวบรวมนโยบาย แผนพัฒนา คำสั่ง มติ กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในบริเวณพื้นที่โครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ
2) การศึกษาด้านวิศวกรรม
รวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะของเส้นทาง อุปสรรคสิ่งกีดขวางและจุดควบคุมอื่น ๆ รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แนะนำแนวทางแก้ไขอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางต่อการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งออกแบบเบื้องต้นตามรูปแบบที่เสนอแนะ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3) การศึกษาด้านจราจรและขนส่ง
ศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลสภาพการจราจรและขนส่งในบริเวณพื้นที่ศึกษาและพื้นที่อิทธิพลที่เกี่ยวข้องในอดีตและปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องใช้เป็นหลักฐานสำหรับการคาดคะเนการจราจรและขนส่งในอนาคต
4) การศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดี
ศึกษา รวบรวมข้อมูล และสำรวจด้านโบราณคดีในระยะ 1 กิโลเมตร จากแนวเส้นทางโครงการ พร้อมทั้งทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดี
5) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ดำเนินการรวบรวมข้อมูลนำมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ครอบคลุม 4 องค์ประกอบหลักคือ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งสิ้น 37 ปัจจัย และคัดกรองปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญนำมาศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด เพื่อนำมากำหนดเป็นมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ
6) การมีส่วนร่วมของประชาชน
จัดให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน