การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ (Ramsar Site) อยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน – ปากแม่น้ำกระบุรี - ปากคลองกะเปอร์ ดังนั้น จึงเข้าข่ายโครงการประเภททางหลวงหรือถนน ซึ่งต้องศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการพัฒนาโครงการ โดยในการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีดังนี้
แนวทางในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงหมายเลข 4 บ.หงาว - บ.ละออง จ.ระนอง นั้น จะดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ถูกต้องที่สุดบนพื้นฐานทางวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการศึกษาตามขอบเขตของงาน (TOR) ของกรมทางหลวงเป็นอย่างน้อย รวมทั้งได้ใช้แนวทางและหลักเกณฑ์ในการศึกษาและจัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. แนวทางในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environmental Impact Statement of a Road Scheme) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดเตรียมโดยกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักแผนงาน กรมทางหลวง (กรมทางหลวง, 2567)
2. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2566 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 5 มกราคม 2567
3.(ร่าง) แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงหรือถนนและระบบทางพิเศษ จัดทำโดย กลุ่มงานคมนาคม กองการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2567
4. ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ.2565
ขั้นตอนที่ 1 : การทบทวนรายงานเดิมและตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม
ดำเนินการรวบรวมและทบทวนนโยบาย มติ กฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ และดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี เช่น ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์ มรดกโลก เป็นต้น และพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งโบราณสถานและโบราณคดี ศาสนสถาน สถานศึกษา และสถานพยาบาล เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 : การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
เป็นขั้นตอนเพื่อคัดกรองปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการทั้งลักษณะโครงการ หรือกิจกรรมก่อสร้างต่างๆ ของโครงการครอบคลุมในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง ระยะดำเนินการและบำรุงรักษา ครอบคลุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมจำนวน 37 ปัจจัย โดยหากพบว่ามีประเด็นหรือข้อจำกัดที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการที่มีผลกระทบในระดับต่ำ จะเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่เหมาะสมต่อไป และปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบทางลบและความสำคัญอยู่ในระดับปานกลาง-สูง จะนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 : การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment : EIA)
เป็นการนำประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นมาดำเนินการศึกษาโดยการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการสำรวจและเก็บตัวอย่างทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสังคม จากนั้นดำเนินการวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมอย่างละเอียด และกำหนดเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำหนดเป็นแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ